ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

พิกัด: 18°48′19″N 98°55′18″E / 18.8052°N 98.9216°E / 18.8052; 98.9216
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Wat Phrathat Doi Suthep)
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารในปี พ.ศ. 2565
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยสุเทพ ดอยสุเทพ
ที่ตั้งถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ไทยถิ่นเหนือ: ) พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย วัดมีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 689 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด

ประวัติ[แก้]

พ.ศ. 1912 พญากือนาได้นิมนต์พระสุมนเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบ ณ เมืองปางจา (บางขลัง) มาด้วย แต่พญากือนาให้พำนักที่วัดพระยืนก่อน เมื่อสร้างวัดสวนดอก เสร็จใน พ.ศ. 1914 จึงนิมนต์พระสุมนเถระมาจำพรรษาที่วัดสวนดอก พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกเป็น 2 องค์ จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งองค์บรรจุในพระเจดีย์วัดสวนดอก

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์ พญากือนากับพระสุมนเถระได้เชิญขึ้นประดิษฐานในสัปคับบนหลังช้างมงคล อธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน ช้างออกจากประตูหัวเวียงแล้วเดินขึ้นดอยสุเทพ ช้างหยุดอยู่ที่แห่งหนึ่ง เพื่อหนุนหยุดพัก พญากือนากับพระสุมนเถระอาราธนาไปต่อ ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่าดอยหมากขนุน (ดอยหมากหนุน) ช้างมงคลเดินต่อจนไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ราบเพียงงาม พญากือนากับพระสุมนเถระคิดจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นั่น แต่ช้างมงคลยังเดินต่อไป ที่นั้นได้ชื่อว่าสนามยอดดอยงาม ภายหลังเพี้ยนเป็นสามยอด (คือวัดสามยอดร้าง) พอช้างมงคลไต่ราวดอยเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องแส่นสะเทือน 3 ครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณ 3 รอบ แล้วคุกเข่าอยู่เหนือยอดดอย พญากือนาจึงให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากหลังช้าง ช้างมงคลก็ล้มไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดดินลึก 3 ศอก เอาแท่นหินใหญ่ 7 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น แต่บางตำนานว่าพญากือนาเอาพระบรมสารีริกธาตุบูชาก่อน แล้วบรรจุใน พ.ศ. 1927

พ.ศ. 2081 พระเมืองเกษเกล้า ได้โปรดฯ นิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม (วัดรมณียาราม) เมืองลำพูน ให้สร้างเสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 12 ศอก สูง 44 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ ต่อมาท้าวซายคำ โปรดฯ ให้ตีทองคำเป็นทองจังโกหุ้มองค์พระเจดีย์

พ.ศ. 2085 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูน สร้างพระวิหารทิศตะวันตกตะวันออกพร้อมระเบียงล้อมพระธาตุ และ พ.ศ. 2090 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ได้สร้างขั้นได (บ้นได) นาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น อุบาสกชื่อมังคลสีลาได้สร้างพระอุโบสถ โดยมีราชครูเจ้าสวนดอกไม้เป็นประธาน[1]

บันไดนาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2463

พ.ศ. 2331 พระเจ้ากาวิละ เจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) พร้อมกันสร้างฉัตร และยกฉัตรพระธาตุดอยสุเทพ

พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละสร้างพระวิหารทิศตะวันตกขึ้นใหม่ พร้อมยกฉัตรพระธาตุดอยสุเทพขึ้นใหม่ ต่อมาฟ้าผ่าใส่ฉัตรพระธาตุ ใส่ลูกแก้วยอดฉัตรใหม่ พ.ศ. 2349 ได้สร้างพระวิหารทิศตะวันออกขึ้นใหม่ มีการฉลองอบรมสมโภช

พ.ศ. 2370 พระยาพุทธวงศ์ได้ถวายฉัตรหลวงรายพระเจดีย์ทั้ง 4 มุม[2]

พ.ศ. 2403 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ได้ถวายเดงหลวง (ระฆังใหญ่) ไว้กับพระธาตุดอยสุเทพ

พ.ศ. 2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ฉลองเบิกบายเมื่อ พ.ศ. 2419

พ.ศ. 2437 วันเพ็ญ เดือน 8 (เหนือ) พระเจ้าอินทวิชยานนท์ตั้งตำแหน่งสังฆราชาทั้ง 7 ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งครูบาวัดฝายหิน (อุ่นเรือน โสภโณ) เป็นปฐมสังฆราชานายก ตั้งครูบาญาณโพธิ วัดสันคะยอมเป็นทุติยะ ตั้งครูบาอริยะ วัดหนองโขงเป็นตติยะ ตั้งครูบากาวิละวงษ์ วัดพวกแต้มเป็นจตุตถะ ตั้งครูบาคันธา (จันทร์แก้ว คนฺธาโร) วัดเชตุพนเป็นปัญจมะ ครูบาปินตา (อินตา) วัดป่ากล้วยเป็นฉัฏฐะ ครูบาเทพวงศ์ (เทพวงศ์ เทววํโส) วัดนันทรามเป็นสัตตะ

พ.ศ. 2463 ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพ หมดเงินทั้งสิ้น 221 รูเปีย และได้บูรณะพระอุโบสถ[3]

พ.ศ. 2473 พระอภัยสารทะ (ก้อนแก้ว อินฺทจกฺโก) เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา หลวงอนุสารสุนทรกิจ (สุ่นฮี้ ชุติมา) ได้ทำการหล่อซ่อมแซมเดงหลวง (ระฆังใหญ่) สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ใหม่ มีการเพิ่มจารึกภาษาล้านนา ไทย จีน ลายธาตุประจำปีเกิด ลายชะตาประจำปีเกิด

พ.ศ. 2475 เจ้าแก้วนวรัฐได้นิมนต์ครูบาเถิ้ม (โสภา โสภโณ) วัดแสนฝาง ให้ขึ้นไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีขะโยม (เด็กวัด) เพียง 2 คนตามไปดูแล ตอนนั้นการเดินทางขึ้นเขาลำบาก เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ นานา เวลาจะดื่มน้ำต้องเดินเท้าไปตักจากดอยปุย ต่อมาครูบาเถิ้มได้ทำรางน้ำเชื่อมลงมาจากดอยปุยเป็นท่อไม้ไผ่ให้น้ำไหลลงมาวัดพระธาตุดอยสุเทพ คณะสงฆ์ได้ถวายเงินให้ 1,000 รูเปีย เพื่อใช้จ่ายในการบูรณะปฏิสังขรณ์[4]

พ.ศ. 2477-2478 ครูบาศรีวิชัย ได้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย

พ.ศ. 2484 เจ้าแก้วนวรัฐบูรณะวิหารทิศตะวันตก (พระพุทธชินสีห์สุวรรณเจดีย์) พ.ศ. 2496 บูรณะวิหารทิศตะวันออก (พระพฤหัส)

พ.ศ. 2497 บูรณะซุ้มประตู พระธาตุ แนวกำแพงแก้ว

พ.ศ. 2547-2553 วัดพระธาตุดอยสุเทพและกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะครั้งใหญ่ทั้งองค์พระธาตุและปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งหมด

ลักษณะสถาปัตยกรรม[แก้]

ส่วนฐานเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมรองรับฐานเขียงย่อเก็จ 3 ชั้น ซึ่งรองรับบัวคว่ำบัวลูกแก้วและบัวหงาย ต่อจากนั้นจะเป็นหน้ากระดานที่รองรับบัวถลาอีกทอดหนึ่ง ส่วนกลางองค์ระฆังเป็นบัวถลา 4 ชั้น วางเรียงลดหลั่นกันไปจากบัวใหญ่ไปถึงบัวน้อยซึ่งเป็นฐานรองรับองค์ระฆัง 12 เหลี่ยม ส่วนยอดมีรัตนบัลลังก์ที่คอระฆัง ต่อจากนั้นเป็นเสาหานรองรับบัวฝาละมี รองรับปล้องไฉน 12 ปล้อง ใหญ่น้อยเรียงลดหลั่นตามลำดับเหนือปล้องไฉนเป็นปลียอด

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน[แก้]

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [5]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าหญิงจามรีวงศ์. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. 2472.
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538.
  3. สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๒ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
  4. สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๑ : สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. 470 หน้า. ISBN 978-616-93082-0-1
  5. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

18°48′19″N 98°55′18″E / 18.8052°N 98.9216°E / 18.8052; 98.9216